การรักษาอาการปวดประจำเดือนด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน | เจ สหคลินิค
บทนำ (เกริ่น)
ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) มีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อยและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น
ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากอะไร
าการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น
ในทางการแพทย์แผนจีน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากอะไร
ปวดประจำเดือน เป็นอาการปวดท้องน้อยช่วงก่อน ในระหว่างหรือหลังมีรอบเดือน ซึ่งจะรบกวนการทำงานและการดำเนินชีวิตปกติประจำวัน อาจเป็นแบบไม่ทราบสาเหตุหรือมีความผิดปกติจากการทำงานของมดลูก ดยแบ่งเป็นสองเเบบ คือตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ (แบบปฐมภูมิ) หรือทราบสาเหตุเนื่องจากมีพยาธิสภาพเปลี่ยนแปลงในอวัยวะสืบพันธุ์ (แบบทุติยภูมิ) การรักษาด้วยการฝังเข็มจะได้ผลดีในกรณีปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ
อาการและอาการแสดง
- มีประวัติปวดท้องน้อยซึ่งสัมพันธ์กับคาบเวลาที่จะมีรอบเดือนค่อนข้างชัดเจนหรืออาจเคยมีประวัติของปริมาณเลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ มีบุตรยาก ใช้การคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วง และเคยมีประวัติอุ้งเชิงกรานอักเสบ
- มักจะปวดท้องน้อยก่อนประจำเดือนมา 1 – 2 วัน โดยจะปวดมากที่สุดในวันแรกที่มีประจำเดือน อาการปวด มีลักษณะปวดเกร็ง เป็นพัก ๆ หรือท้องแน่นอืดร่วมกับหน่วงท้อง ในรายที่รุนแรงจะปวดร้าวไปที่เอวหรือสะโพก ทวารหนัก ช่องคลอด ขาหนีบ และอาจมีอาการหน้าซีดขาว เหงื่อออกตัวเย็น มือเท้าเย็น จนเป็นลมหมดสติได้
อย่างไรก็ตามอาการปวดนี้จะไม่มีลักษณะของกล้ามเนื้อท้องเกร็งแข็ง หรือปวดเมื่อปล่อยมือจากการกด บางรายจะปวดเมื่อใกล้หมดหรือหลังหมดประจำเดือนแล้ว 1 – 2 วัน
การวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการโรค
1. ความเย็นชื้นตกค้าง (寒凝血瘀)
อาการ : ปวดเย็นท้องน้อยก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือน ขี้หนาว ประจำเดือนมาน้อยไม่คล่อง สีม่วงหรือดำเป็นลิ่ม ร่วมกับมีตัวเย็น แขนขาเย็น ปวดตามข้อ ลิ้นและฝ้าสีขาวเหนียว และชีพจรจมหรือจมตึงแน่น (沉脉 หรือ 沉紧脉)
2. ความร้อนชื้นอุดกั้น (湿热蕴结)
อาการ : ปวดแสบปวดร้อนท้องน้อยก่อนมีประจำเดือนหรือขณะมีประจำเดือน ไม่ชอบกด ปวดลามไปถึงบริเวณเอวและก้นกบ ประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมานาน ประจำเดือนสีแดงอมม่วง ลักษณะข้น หรือมีลิ่มเลือด มักมีตกขาวเยอะและมีสีเหลืองข้น กลิ่นเหม็น หรือมีไข้ต่ำๆ ลิ้นแดง ฝ้าสีเหลืองหนา และชีพจรลื่นเร็ว (滑数脉)
3. ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง (气滞血瘀)
อาการ : ปวดแน่นอึดอัดท้องน้อยก่อนหรือระหว่างมีรอบเดือน ประจำเดือนมาน้อยไม่คล่อง สีม่วงหรือดำเป็นลิ่ม ร่วมกับแน่นทรวงอก ชายโครงและเต้านม ลิ้นสีม่วงหรือมีจ้ำเลือด และชีพจรจมหรือจมฝืด (沉脉 หรือ 沉涩脉)
4.ชี่และเลือดพร่อง (气血虚弱)
อาการ : ปวดโล่งๆ บริเวณท้องน้อยระหว่างหรือหลังมีรอบเดือน กดท้องแล้วรู้สึกดีขึ้น ประจำเดือนสีแดงจาง ร่วมกับหน้าซีดขาว อ่อนเพลียไม่มีแรง วิงเวียนศีรษะ ลิ้นซีด ฝ้าบาง และชีพจรเล็กและอ่อนแรง (细弱脉)
5. ชี่ไตพร่องหรืออ่อนแอ (肾气亏损)
อาการ : ปวดโล่งๆ บริเวณท้องน้อยหลังมีรอบเดือน ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ อาจมากหรือน้อย สีแดงจาง ไม่เป็นลิ่ม ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยอ่อนล้าบริเวณหลังและเข่า นอนไม่หลับ วิงเวียนและมีเสียงดังในหู ลิ้นซีด ฝ้าน้อย และชีพจรเล็ก (细脉)
การรักษาอาการปวดประจำเดือนด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ฝังเข็มตามระบบเส้นลมปราณ ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การรมยา การครอบแก้ว หรือการทานยาจีน
Self care product
การแช่เท้าในน้ำอุ่นๆกับสมุนไพรจีน