การรักษาอาการนอนไม่หลับ (Insomnia)|J-CLINIC
สวัสดีค่ะ หมอผิงจากเจสหคลินิกนะคะ ไม่ว่าจะนอนไม่หลับทั้งคืน หรือตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วนอนหลับต่อไม่ได้ หลับต่อยาก หลับไม่สนิท หลับแล้วตื่นง่าย หรือจะเป็นอาการหลับๆ ตื่นๆ ก็ไม่ควรนิ่งดูดาย หรือมัวแต่นอนนับแกะนับแพะอยู่ หรือคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อเรานอนไม่หลับ มันย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเราเกือบจะทั้งหมด

อีกทั้งยังทำให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย โดยเฉพาะสมองของเราหย่อนสมรรถภาพลง นั่นก็เพราะว่า การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดของอวัยวะภายในร่างกายของเรา
แต่รู้หรือไม่ว่า การที่เราพึ่งพายานอนหลับเพื่อช่วยให้เรานอนหลับมันแย่ยิ่งกว่าการที่เรานิ่งดูดาย หรือมองเรื่องการนอนไม่หลับเป็นเรื่องปกติเสียอีก นั่นเพราะในตัวยาบางตัวของยานอนหลับบางชนิดมีสารออกฤทธิ์ที่อันตราย ถึงขั้นทำให้สูญเสียความทรงจำหรือร้ายแรงไปถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี หากมีการใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน
อาการนอนไม่หลับ กับวิธีการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน
เป็นศาสตร์ในด้านการรักษาที่มีทฤษฎีและหลักการวินิจฉัยรักษาโรคที่แตกต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยถือว่า มนุษย์มีความเป็นเอกภาพกับธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อฤดูกาล เวลา สถานที่ มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีผลกระทบต่อร่างกาย จึงส่งผลทำให้เกิดโรคและอาการต่างๆ ขึ้น
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
ในมุมมองของแพทย์แผนจีนมักจะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อารมณ์แปรปรวน การตรากตรำทำงานหนัก หรือร่างกายอ่อนแอหลังจากเจ็บป่วย เป็นต้น
กลไกการเกิดโรค คือ เสินหัวใจขาดการหล่อเลี้ยง หรือ ถูกรบกวน จิตใจ ไม่สงบ การทำงานของเส้นลมปราณขาดสมดุล หยางมีมากเกินไป อินมีน้อยเกินไป อินหยางขาดสมดุล
*เสิน (神)คือสติ ทำหน้าที่ในการควบคุมการนึกคิด จิตสำนึก
เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สามารถสังเกตได้จากการแสดงออกของสีหน้า ความมีชีวิตชีวา แววตา
*หยาง ลักษณะร่างกายหยาง คล่องแคล่ว พูดเก่ง คิดไว กระวนกระวายง่าย กระฉับกระเฉง ขี้ร้อน ชีพจรเต้นเร็ว อารมณ์เสียง่าย หน้าแดง หายใจแรง หงุดหงิดง่าย ตัวร้อน กินเก่ง ท้องผูกง่าย คอและปากแห้ง เป็นต้น
*อิน ลักษณะร่างกายอิน เชื่องช้า สงบ หายใจเบา ชีพจรเต้นช้า หน้าซีดขาว ขี้หนาว แขนฝ่ามือ ฝ่าเท้า และขาเย็น ทานอาหารได้น้อย ท้องอืดง่าย ระบบย่อยไม่ค่อยดี ไม่ค่อยกระหายน้ำ เป็นต้น

**ปกติร่างกายคนเรามีหยินเเละหยางอยู่เสมอ โดยหยางจะมีมากในช่วงกลางวัน เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายตื่นตัว และหยินจะมีมากในช่วงกลางคืนเพื่อให้ร่างกายพักผ่อน
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
แบ่งการวินิจฉัยตามกลุ่มอาการ 5 ประเภท
1. กลุ่มอาการไฟตับกระทบหัวใจ(肝火扰心证)
อาการ : นอนไม่หลับ ฝันมาก ในรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นนอนไม่หลับทั้งคืน ใจร้อน โมโหง่าย เวียนศีรษะ ตึงศีรษะ ตาแดง หูอื้อ ปากแห้งหรือปากขม ท้องผูก ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว(弦数)
วิธีรักษา : ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ ระบายร้อน สงบจิตใจ
2. กลุ่มอาการเสมหะร้อนกระทบหัวใจ(痰热扰心证)
อาการ : นอนไม่หลับ หงุดหงิด แน่นหน้าอก เรอ สะอึก ปากขม หนักศีรษะ ตาลาย ลิ้นค่อนข้างแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว(滑数)
วิธีรักษา : สลายเสมหะร้อน ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร สงบจิตใจ
3. กลุ่มอาการม้ามหัวใจพร่อง(心脾两虚证)
อาการ : หลับยาก ฝันมาก ตื่นบ่อย ใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง ทานอาหารน้อยลง ท้องอึด ถ่ายเหลว เวียนศีรษะ ตาลาย ใบหน้าไม่มีชีวิตชีวา ลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจรเล็กไม่มีแรง(细无力)
วิธีรักษา : บำรุงม้ามและหัวใจ บำรุงเลือด สงบจิตใจ
4. กลุ่มอาการหัวใจกับไตทำงานไม่ประสาน (心肾不交证)
อาการ : นอนไม่หลับ หงุดหงิด หลับยาก ใจสั่น ฝันมาก ปวดเมื่อยเอว ตัวร้อน เหงื่ออกตอนนอน ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กลางอกร้อน เวียนศีรษะ คอแห้ง มีเสียงในหู ฝันเปียก(ผู้ชาย) ประจำเดือนมาไม่ปกติ(ผู้หญิง) ลิ้นแดงฝ้าบาง ชีพจรเล็กเร็ว(细数)
วิธีรักษา : บำรุงอิน ลดความร้อน เชื่อมประสานหัวใจและไต
5. กลุ่มอาการลมปราณหัวใจและถุงน้ำดีพร่อง(心胆气虚证)
อาการ : นอนไม่หลับ ฝันร้าย ตื่นตกใจง่าย ขี้ตกใจ ขี้กลัว ใจสั่น หายใจสั้น เหงื่อออกง่าย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ลิ้นซีด ชีพจรตึงเล็ก(弦细)
วิธีรักษา : บำรุงลมปราณ ลดอาการตกใจ สงบจิตใจ
ตัวอย่างเคสศึกษาอาการนอนไม่หลับ
ชื่อ : คุณA เพศ : หญิง อายุ : 36 ปี
ประวัติการเจ็บป่วย/ โรคประจำตัว : ผ่าตัดมดลูก ประมาณ 3 ปี , ไมเกรน
คนไข้มาด้วยอาการนอนไม่หลับ ใช้เวลาในการเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง ตื่นกลางดึกบ่อย และเข้านอนต่อยาก มีฝันเยอะระหว่างคืน ตื่นเช้าไม่สดชื่น ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ตั้งแต่ท้ายทอยขึ้นมาถึงขมับทั้ง 2 ข้าง เหนื่อยง่าย มีความอยากอาหาร แต่ทานได้น้อย บางครั้งมีแก๊สในท้อง ขับถ่ายปกติ ไม่มีความเครียด
- การตรวจร่างกาย : ลิ้นซีดแดง ฝ้าสีเหลือง ชีพจรเบา ไม่มีแรง
- การวินิจฉัย : นอนไม่หลับ(不寐) กลุ่มอาการม้ามหัวใจพร่อง(心脾两虚)
- วิธีการรักษา : รักษาด้วยการฝังเข็ม ควบคู่กับการทานยาจีน บำรุงม้ามและหัวใจ บำรุงเลือด
- ตำรับยาที่ใช้ : กุยผีทัง(归脾汤) + 龙骨,牡蛎,白芷 เป็นต้น
ผลการรักษา : ในครั้งแรกของการรักษามีเพียงการฝังเข็มเพียงอย่างเดียว ทำให้ยังไม่เห็นผลการรักษาที่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในครั้งถัดมา จึงได้ปรับการรักษาโดยการใช้ยาจีนควบคู่กับการฝังเข็ม หลังจากนั้น อาการของคนไข้เริ่มดีขึ้น คือ สามารถเข้านอนโดยใช้เวลาที่สั้นลง ไม่มีตื่นกลางคืน แต่ยังมีอาการฝันเยอะ อาการปวดหัวมีเป็นบางครั้ง บางครั้งมีทานยาแก้ปวดร่วมด้วย การรักษาฝังเข็มควบคู่กับการทานยาจีนร่วม ในช่วงแรกทำการรักษาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 6 ครั้ง ทำให้อาการนอนไม่หลับของคนไข้ดีขึ้น ใช้เวลาเข้านอนน้อยลง ไม่มีตื่นกลางดึก ตื่นเช้ามีแรงมากขึ้น
คำแนะนำสำหรับอาการนอนไม่หลับ
- เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกเช้า ถึงแม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม
- หลีกเลี่ยงการงีบในช่วงกลางวันหรืองีบให้น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และไม่ควรงีบหลังจากบ่าย 3 โมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักช่วงก่อนนอน
- จัดห้องให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการนอน เช่น เงียบ มืด มีอุณหภูมิที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวหลังมื้อเที่ยง เช่น กาแฟหรือชา
หากใครที่มีอาการนอนไม่หลับให้ลองดูแลตัวเองตามคำแนะนำด้านบน หากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถเข้ามาปรึกษากับทางแพทย์แผนจีนได้ โดยวิธีการรักษาและระยะเวลา จะขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์
Other our blogs
- การรักษาอาการมือเท้าเย็นง่ายๆแบบฉบับแพทย์แผนจีน และแชร์เคสการรักษาอาการมือ-เท้าเย็น
- บทความเต้านมอักเสบอุดตัน หลังหยุดให้นมลูก
- ตัวอย่างกรณีการรักษาในผู้ป่วยวัยทอง
- รักษาอาการปวดบริเวณหลัง โดยเน้นครอบแก้วเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับการทำกายภาพ
- การรักษาอาการปวดประจำเดือนด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
- การรักษาอาการปวดประจำเดือนด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
- การรักษาอาการหูมีเสียงด้วยการฝังเข็มตามแบบฉบับการแพทย์แผนจีน และแชร์เคสการรักษาอาการหูมีเสียง
สามารถทำการนัดหมายได้โดยการส่งไลน์หรือโทรไปที่คลินิกสาขาที่สะดวก โดยจะมีพนักงานชาวไทยจะเป็นผู้ดำเนินการรับเรื่องค่ะ
-
สาขาพร้อมพงษ์:097-257-3577
-
สาขาทองหล่อ:084-424-1299
-
สาขาเอกมัย:097-245-7863